วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ตัวอย่าง คุณสมบัติที่ใช้ในการพิจารณาเลือกซื้อเครื่องโปรเจคเตอร์


     สวัสดีครับหลังจากที่ในบทความก่อนๆ projector-compare ได้ให้ข้อมูลพื้นฐานที่ใช้ประกอบการเลือกโปรเจคเตอร์ เช่น ความสว่าง contrast ความละเอียดภาพ และอื่นๆไปหลายหัวข้อแล้ว ในวันนี้เราจะนำ ตัวอย่าง คุณสมบัติที่ใช้ในการพิจารณาเลือกซื้อเครื่องโปรเจคเตอร์ มาให้ได้ทราบและสามารถใช้เป็นเช็คลิสในการเลือกซื้อได้ครับ โดยตัวอย่างที่ยกมาเป็นเครื่องโปรเจคเตอร์ที่ใช้ในห้องเรียนซึ่งเป็นห้องขนาดเล็กน่ะครับ สเปคจึงยังไม่สูงมาก แต่คงมีประโยชน์สำหรับเป็นแนวทางได้ไม่มากก็น้อยครับ
โปรเจคเตอร์ในห้องเรียน มีแสงสว่างตามธรรมชาติปานกลาง ใช้ความสว่าง 2000-3000 lumen
      คุณสมบัติโปรเจคเตอร์สำหรับห้องเรียน หรือ ห้องประชุมขนาดเล็ก
1. เป็นเครื่องที่รับสัญญาณจากเครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องเล่นดีวีดี และ visualizer ได้
2. เป็นเครื่องโปรเจคเตอร์ชนิด  LCD (ควรเลือกเป็น 3LCD) ขนาดไม่น้อยกว่า 0.63 นิ้ว ให้ภาพที่มีความละเอียด 1024 x 768 (XGA)  (คุณอาจระบุเป็น 800x600 (SVGA) เพื่อให้ราคาถูกลงมาอีกได้)
3. ความสว่างของภาพมากกว่า  2,500 Lumens (เพราะใช้ในห้องที่มีแสงสว่างตามธรรมชาติมากแต่ห้องไม่ใหญ่มาก)
4. ค่า Contrast Ratio มากกว่า 2,000 : 1
5. สามารถปรับความคมชัดของภาพได้ (มี focus แบบ manual)
6. มีระบบปรับแก้ไขปัญหาการแสดงผลภาพสี่เหลี่ยมคางหมู (Keystone Correction) +/- องศาแบบอัตโนมัติ
7. สามารถใช้ Remote Control ควบคุมเครื่องได้
8. มีช่องต่อสัญญาณเข้าดังนี้ ช่องต่อสัญญาณ  RGB , ช่องต่อสัญญาณ S-Video, ช่องต่อสัญญาณ Video (โดยมีอย่างน้อยแบบละ 1 ช่อง)                
9. มีช่องต่อสัญญาณออกของสัญญาณ  RGB
10. สายสัญญาณที่แถมมาเพื่อใช้ต่อกับคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่น ต้องยาว 15-20 เมตร
11. คู่มือการใช้งานโปรเจคเตอร์ควรเป็นภาษาไทย
12. แถมกระเป๋าและอุปกรณ์ประกอบ อื่นๆ เช่น screen หรือ lasor pointer
13. อายุการใช้งานของหลอดภาพไม่น้อยกว่า  2,000 ชั่วโมง
14. สุดท้ายต้องมีรับประกันการใช้งาน อย่างน้อยๆต้อง 6-12 เดือน

      ทั้งหมดนี้ควรอยู่ในงบประมาณไม่เกิน 22,000 บาท น่ะครับ ราคาโปรเจคเตอร์จะสูงกว่านี้หากเลือกความสว่างที่มากขึ้น หากใช้ในห้องประชุมขนาดใหญ่ก็ควรระบุความสว่างมากกว่า 3,000 lumen  สุดท้ายนี้หวังว่าบทความนี้คงช่วยนำทางใครหลายคนให้เลือกโปรเจคเตอร์ที่ถูกใจได้น่ะครับ สวัสดีครับ

วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โปรเจคเตอร์สำหรับสำนักงาน (office projector)

     การเลือกเครื่องโปรเจคเตอร์เพื่อใช้ในกิจการธุรกิจเป็นเรื่องที่ไม่ยากสำหรับมือใหม่ทุกท่าน ซึ่งต่างจากการเลือกโปรเจคเตอร์เพื่อความบันเทิงที่มีรายละเอียดมากกว่า และเช่นเคยในท้องตลาดเองมีโปรเจคเตอร์หลากหลายชนิดให้เราได้เลือกซื้อเลือกหา แต่มีหัวข้อสำคัญเพียง 3-4 ข้อเท่านั้นที่จำเป็นสำหรับประกอบการพิจารณาการใช้งานในสำนักงาน ดังนี้
     ข้อที่ 1 คือเรื่องความสว่างที่ต้องการ (projector brightness)
     ข้อที่ 2 ความละเอียดที่ต้องการ (projector resolution)
     ข้อที่ 3 เรื่องของน้ำหนักเครื่อง ในกรณีที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายเครื่องหรือพกพาไปที่ต่างๆ
     ข้อที่ 4 คือเรื่องของราคา

ความสว่างของโปรเจคเตอร์
     หน่วยของความสว่างที่ใช้เป็นสากลคือ ANSI lumens (american national standard institute lumens) ซึ่งเครื่องโปรเจคเตอร์ที่มีค่า lumens สูงมากเท่าใดก็จะมีราคาสูงมากตามไปด้วยเท่านั้น แต่จำไว้ว่าเครื่องที่มีความสว่างมากที่สุดไม่ใช่โปรเจคเตอร์ที่เหมาะสมที่สุดเสมอไป เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่
     1.จำนวนคนที่อยู่ในห้องนำเสนอ เพราะยิ่งจำนวนคนมากเท่าไหร่ก็ต้องทำให้ภาพใหญ่ขึ้น แต่เมื่อภาพใหญ่ขึ้นความสว่างของภาพก็จะลดลง
     2.ห้องที่เปิดเครื่องโปรเจคเตอร์มีแสงสว่างอยู่แล้วเท่าไหร่ ในห้องที่มีแสงน้อยเครื่องโปรเจคเตอร์จะให้ภาพที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ถ้าใช้เครื่องโปรเจคเตอร์ที่มีแสงสว่างมากจนเกินไปในห้องแสงน้อยก็จะทำให้ผู้ชมแสบตาได้ แต่ถ้าฉายภาพในห้องที่มีแสงสว่างมากๆก็จำเป็นต้องเลือกซื้อโปรเจคเตอร์ที่มีความสว่างมากขึ้นเพื่อแข่งกับแสงที่อยู่ในห้อง
     3.ฉากรับภาพที่ใช้ (projector screen) หากเราใช้ผนังห้องเป็นฉากเราต้องเลือกโปรเจคเตอร์ที่มีความสว่างมากขึ้นเพราะผนังส่วนใหญ่มีการสะท้อนแสงกลับได้น้อย แต่หากคุณใช้ฉากเฉพาะก็ใช้ความสว่างที่น้อยลง

ความละเอียดของภาพ
     สำหรับหัวข้อนี้ขอแนะนำให้ดูเครื่องที่จะใช้เชื่อมต่อเข้าโปรเจคเตอร์ เช่น คุณเชื่อมต่อจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ความละเอียดหน้าจอ 800x600 ก็ควรเลือกโปรเจคเตอร์เครื่องที่มีความละเอียดภาพเท่ากันหรือมากกว่า แต่หากคุณใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่หน้าจอละเอียด 1024x768 แต่เลือกโปรเจคเตอร์ 800x600 ก็จะได้ภาพที่ไม่ละเอียดเท่าที่ต้องการ

     นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่เป็นคุณสมบัติที่เป็นจุดเด่นย่อยลงไปในแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ เช่น zoom lens, shift lens เป็นต้น

วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โปรเจคเตอร์ DLP หรือ LCD อันไหนดีกว่ากัน?

     สวัสดีครับ สำหรับสัปดาห์นี้จะมาเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับโปรเจคเตอร์ในหัวข้อ โปรเจคเตอร์ DLP หรือ LCD อันไหนจะดีกว่ากัน?
LCD โปรเจคเตอร์
      ปัจจุบันเราสามารถแบ่งโปรเจคเตอรร์ทั่วไปในท้องตลาดตามเทคโนโลยีที่ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.โปรเจคเตอร์ DLP(digital light processing) 2. โปรเจคเตอร์ LCD(liquid crystal display) ทั้งสองประเภทมีกลไกการสร้างภาพที่แตกต่างกัน แต่ละแบบก็จะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน
     ในอดีตโปรเจคเตอร์แบบLCD จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มของโปรเจคเตอร์ราคาถูกแต่มีประสิทธิภาพต่ำ และโปรเจคเตอร์แบบDLPอยู่ในประเภทที่มีประสิทธิภาพและราคาสูง  แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีของโปรเจคเตอร์ทั้งสองประเภทได้พัฒนาจนเท่าเทียมกัน การเลือกว่าแบบใดดีกว่าแบบใดจึงไม่มีความจำเป็น
     LCD โปรเจคเตอร์ได้พัฒนาอย่างมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน DLP โปรเจคเตอร์ก็ลดราคาลงมามาก และทั้งสองประเภทสามารถให้ภาพที่คมชัด สดใสและมีชีวิตชีวา ดังนั้นการเลือกโปรเจคเตอร์จึงควรไปตัดสินที่ปัจจัยอื่นๆมากกว่า เช่น ความสว่าง ความละเอียด contrast เป็นต้น
การผลิตภาพของ DLP โปรเจคเตอร์

        ข้อดีของโปรเจคเตอร์แบบ DLP คือ มีระยะห่างระหว่าง pixel น้อยกว่า ทำให้ภาพที่ได้มีความนุ่มนวล(smooth) และให้ contrast สูงกว่า เหมาะกับการชมภาพยนตร์ ดูหนัง ข้อเสียของโปรเจคเตอร์แบบ DLP คือ ภาพที่ได้หากมองกวาดตาจากด้านหนึ่งของหน้าจอไปยังอีกด้านหนึ่งจะมองเห็นภาพเป็นแถบๆเหมือนทางม้าลาย นอกจากนี้อาจพบขอบจอเป็นแถบสีเทาเล็กๆอันเกิดจากการกระเจิงแสง

      ข้อดีของโปรเจคเตอร์แบบ LCD คือ ให้ภาพที่มีความสว่างมากกว่า สีสดกว่า ในจำนวนวัตต์(watt)ที่เท่ากัน ทำให้ได้ภาพมีชิวิตชีวา อีกข้อที่สำคัญมากคือให้ภาพนิ่งที่คมชัดกว่ามากเนื่องจากระยะห่างแต่ละ pixel พอสมควรทำให้แต่ละจุดแสดงสีได้ชัดเจนกว่า จึงเหมาะกับการใช้นำเสนอภาพนิ่งในการประชุมหรือห้องเรียน สำหรับข้อเสียของโปรเจคเตอร์แบบ LCD คือ ภาพที่ได้จะเป็นจุดๆของpixel มีความนุ่มนวลที่น้อยกว่า ข้อเสียอีกหนึ่งข้อ คือ ระบบ LCD มีส่วนประกอบหลายชิ้นมากกว่า DLP และส่วนประกอบแต่ละชิ้นมีราคาแพง ซึ่งLCD เกิดโอกาสเสียได้มากกว่า DLP

     จากข้อมูลทั้งหมดหวังว่าคงพอทำให้ท่านสามารถเลือกได้แล้วว่าโปรเจคอตร์แบบใดที่เหมาะและตรงกับความต้องการของคุณมากที่สุดครับ

ราคาโปรเจคเตอร์

     สำหรับราคาของโปรเจคเตอร์ที่ต้องการใช้เล่นภาพยนตร์จาก DVD หรือ ดูจาก blu-ray(พอดูได้) ที่แนะนำคือความละเอียดโปรเจคเตอร์1280x720 ซึ่งราคาอยู่ระหว่าง 21,000-30,000 บาท สำหรับโปรเจคเตอร์ความละเอียด 1920x1080 ที่ราคาอยู่ในช่วงนี้เช่นกันเมื่อเทียบกับรุ่น1280x720 อาจมีภาพละเอียดกว่า แต่ contrast อาจจะด้อยกว่ามากให้สังเกตให้ดี
     สำหรับคนที่ต้องการโปรเจคเตอร์ราคาสูงกว่า 30,000 บาทขึ้นไป คุณจะได้โปรเจคเตอร์ 1920x1080 ที่ได้ทั้งความละเอียดและ contrast ที่สูง
ราคาโปรเจคเตอร์ ไม่มีคำตอบตายตัวต้องเปรียบเทียบเป็นรุ่นๆไป
 ราคาหลอดภาพสำรอง
     หลอดภาพของโปรเจคเตอร์ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานที่จำกัดขึ้นกับโปรเจคเตอร์แต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อไม่มีมาตราฐานตายตัว และก่อนหมดอายุการใช้งานคุณภาพของหลอดอาจลดลงก่อนกำหนด ดังนั้นหากคุณต้องการได้ภาพจากโปรเจคเตอร์ที่คมชัดสีสดตลอดเวลาคุณควรจะมีหลอดภาพสำรองไว้ โดยปกติหลอดภาพโปรเจคเตอร์ราคาตกอยู่ที่ประมาณ 9000 บาท

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การติดตั้งโปรเจคเตอร์ (projector installation)

     ในการติดตั้งเครื่องโปรเจคเตอร์ ขนาดห้องและระยะห่างระหว่างโปรเจคเตอร์และฉากเป็นปัจจัยที่ทำให้ได้ขนาดและคุณภาพของภาพที่เหมาะสม ปัจจุบันโปรเจคเตอร์ส่วนใหญ่จะสามารถปรับได 2 ส่วน คือ
การติดตั้งโปรเจคเตอร์

     1.ระยะซูม(zoom range) โดยมีเลนส์ที่สามารถขยายภาพให้ใหญ่หรือเล็กลงได้ เช่น โปรเจคเตอร์ 1.2x จะสามารถให้ภาพที่ขยายใหญ่กว่าเดิม 20% แต่ระยะซูมที่ไกลขึ้นก็จะทำให้พลังงานแสงที่ได้ลดลง นั้นคือยิ่งขยายภาพจากโปรเจคเตอร์ให้ใหญ่คุณภาพของภาพที่ได้จะต่ำลง เช่น คุณมีห้องที่เล็กแต่ต้องการขยายภาพที่ได้จากโปรเจคเตอร์ให้ใหญ่ภาพที่ได้จะไม่ชัด
     2.lens shift คือความสามารถในการเลื่อนภาพขึ้น-ลง ซ้าย-ขวาได้โดยไม่ขยับโปรเจคเตอร์

ระยะในการแสดงผลของเครื่องโปรเจคเตอร์ (Projector Throw Distance)
     ปัจจัยที่มีผลต่อขนาดของภาพที่ได้จากโปรเจคเตอร์ (projector picture side) คือ ระยะห่างของเครื่องโปรเจคเตอร์กับฉากรับภาพ (projector screen) อีกข้อคือความสามารถในการซูมของเลนส์ (projector lens) ยกตัวอย่างเช่นโปรเจคเตอร์ที่ระบุว่าให้ภาพขนาด 50-500 นิ้ว 1-10 เมตร หมายถึงโปรเจคเตอร์ตัวนั้นจะให้ภาพขนาด 50 นิ้ว ที่ระยะ 1 เมตร และให้ภาพขนาด 500 นิ้วที่ระยะ 10 เมตร ฉะนั้นหากต้องการภาพขนาดใหญ่แต่ห้องที่ติดตั้งโปรเจคเตอร์มีขนาดเล็กก็ต้องอาศัยอีกปัจจัยคือความสามารถในการซูมภาพให้ใหญ่ขึ้นจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ความสามารถในการซูมภาพของโปรเจคเตอร์จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเลือกโปรเจคเตอร์ที่สำคัญ