วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สายต่อและการเชื่อมต่อโปรเจตเตอร์ (projector port&cable)

     ในเครื่องโปรเจคเตอร์ปัจจุบันจะมี ช่องต่อ (projector port) สำหรับเชื่อมต่อสัญญานรับภาพและเสียงจากเครื่องเล่นหรือจากเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยผ่านทางช่องต่างๆที่พบในเครื่องฉายโปรเจคเตอร์ ได้แก่
ช่องต่อโปรเจคเตอร์ แบบ VGA
      ช่องต่อ VGA หรือ Monitor Cable เป็นช่องต่อที่ใช้ต่อจอภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีทั่วไป มีขา 15 ขา เป็นชนิดที่พบมากที่สุดในเครื่องโปรเจคเตอร์ทั่วๆไป
ช่องต่อโปรเจคเตอร์ แบบ component video
      ช่องต่อ Component Video หรือที่เรียกว่าช่อง RGB(red,green,blue) หรือ BNC  component แปลว่า ส่วนประกอบ ดังนั้นช่องต่อประเภทนี้จึงมีหลายช่องประกอบกัน ช่องประเภทนี้ให้ความคมชัดสูงระดับดีวีดี และคมชัดกว่าช่องต่อแบบ video และ S-Video
ช่องต่อโปรเจคเตอร์ แบบ HDMI
      ช่องต่อ HDMI เป็นช่องต่อสัญญาณความละเอียดสูง (high-definition) ช่องต่อสัญญาณชนิดนี้กำลังเป็นมาตราฐานสำหรับโปรเจคเตอร์ที่ใช้เพื่อดูหนัง ดูภาพยนตร์ รวมถึงอุปกรณ์บันเทิงอื่นๆในบ้าน port HDMI มี 2 แบบ 1. แบบ 19 ขา ใช้สำหรับภาพที่ความละเอียดน้อยกว่า 1080i 2.แบบ 29 ขา ใช้สำหรับความละเอียดมากกว่า 1080i
ช่องต่อโปรเจคเตอร์ แบบ s-video
     ช่องต่อ S-Video หรือ S-VHS หรือ Y/C ช่องต่อสัญญาณภาพ เหมาะกับการต่อสัญญาณจากโทรทัศน์ธรรมดาหรือเครื่องเล่นดีวีดีทั่วไป ช่องต่อแบบนี้ให้ความคมชัดสูงกว่าช่อง Video และ composite video
ช่องต่อโปรเจคเตอร์ แบบ composite video

     ช่องต่อ Composite Video หรือ Phono Audio/Video เป็นแบบที่ให้คุณภาพภาพต่ำที่สุด โดยทั่วไปใช้ต่อกับเครื่องสเตอริโอ ช่องสีเหลืองเป็นสัญญาณภาพ (video) ช่องสีแดงเป็นสัญญาณเสียงฝั่วขวา และสีขาวเป็นสัญญาณเสียงฝั่งซ้าย (audio)
ช่องต่อโปรเจคเตอร์ แบบ DVI
      ช่องต่อ DVI (Digital Video Interface) เป็นช่องที่เชื่อมจากเครื่องเล่นที่เป็นดิจิตัลไปสู่เครื่องฉายที่เป็นดิจิตัล
ช่องต่อโปรเจคเตอร์ แบบ scart
      ช่องต่อ Scart เป็นช่องต่อเชื่อมสัญญาณดิจิตัลจากจานดาวเทียมหรือจากเคเบิล ช่องต่อแบบนี้ต้องผ่าน adaptor ก่อนเปลี่ยนเป็นสัญญาณ composite หรือ s-video

     ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นช่องต่อที่เราสามารถพบได้ในเครื่องโปรเจคเตอร์(projector port) ซึ่งเป็นมาตรฐาน โดยโปรเจคเตอร์หนึ่งเครื่องอาจไม่พบช่องต่อทั้งหมดขึ้นกับรุ่นและยี่ห้อของเครื่องโปรเจคเตอร์ ปัจจุบันช่องต่อแบบ DVI เป็นช่องต่อที่คุณภาพดีที่สุด แต่ส่วนใหญ่เรามักพบช่องต่อแบบ VGA เนื่องจากเป็นช่องต่อทั่วไปของเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่สำหรับการใช้โปรเจคเตอร์เพื่อการดูหนัง ชมภาพยนตร์(home treater projector) ควรใช้ช่องต่อแบบ HDMI ซึ่งจะให้ภาพและเสียงที่ดีในสายเดียว นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีโปรเจคเตอร์ที่ใช้ระบบการเชื่อมต่อแบบไร้สาย (wireless projector) ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียเราจะนำมาเสนอในโอกาสต่อๆไป

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ตัวอย่าง คุณสมบัติที่ใช้ในการพิจารณาเลือกซื้อเครื่องโปรเจคเตอร์


     สวัสดีครับหลังจากที่ในบทความก่อนๆ projector-compare ได้ให้ข้อมูลพื้นฐานที่ใช้ประกอบการเลือกโปรเจคเตอร์ เช่น ความสว่าง contrast ความละเอียดภาพ และอื่นๆไปหลายหัวข้อแล้ว ในวันนี้เราจะนำ ตัวอย่าง คุณสมบัติที่ใช้ในการพิจารณาเลือกซื้อเครื่องโปรเจคเตอร์ มาให้ได้ทราบและสามารถใช้เป็นเช็คลิสในการเลือกซื้อได้ครับ โดยตัวอย่างที่ยกมาเป็นเครื่องโปรเจคเตอร์ที่ใช้ในห้องเรียนซึ่งเป็นห้องขนาดเล็กน่ะครับ สเปคจึงยังไม่สูงมาก แต่คงมีประโยชน์สำหรับเป็นแนวทางได้ไม่มากก็น้อยครับ
โปรเจคเตอร์ในห้องเรียน มีแสงสว่างตามธรรมชาติปานกลาง ใช้ความสว่าง 2000-3000 lumen
      คุณสมบัติโปรเจคเตอร์สำหรับห้องเรียน หรือ ห้องประชุมขนาดเล็ก
1. เป็นเครื่องที่รับสัญญาณจากเครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องเล่นดีวีดี และ visualizer ได้
2. เป็นเครื่องโปรเจคเตอร์ชนิด  LCD (ควรเลือกเป็น 3LCD) ขนาดไม่น้อยกว่า 0.63 นิ้ว ให้ภาพที่มีความละเอียด 1024 x 768 (XGA)  (คุณอาจระบุเป็น 800x600 (SVGA) เพื่อให้ราคาถูกลงมาอีกได้)
3. ความสว่างของภาพมากกว่า  2,500 Lumens (เพราะใช้ในห้องที่มีแสงสว่างตามธรรมชาติมากแต่ห้องไม่ใหญ่มาก)
4. ค่า Contrast Ratio มากกว่า 2,000 : 1
5. สามารถปรับความคมชัดของภาพได้ (มี focus แบบ manual)
6. มีระบบปรับแก้ไขปัญหาการแสดงผลภาพสี่เหลี่ยมคางหมู (Keystone Correction) +/- องศาแบบอัตโนมัติ
7. สามารถใช้ Remote Control ควบคุมเครื่องได้
8. มีช่องต่อสัญญาณเข้าดังนี้ ช่องต่อสัญญาณ  RGB , ช่องต่อสัญญาณ S-Video, ช่องต่อสัญญาณ Video (โดยมีอย่างน้อยแบบละ 1 ช่อง)                
9. มีช่องต่อสัญญาณออกของสัญญาณ  RGB
10. สายสัญญาณที่แถมมาเพื่อใช้ต่อกับคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่น ต้องยาว 15-20 เมตร
11. คู่มือการใช้งานโปรเจคเตอร์ควรเป็นภาษาไทย
12. แถมกระเป๋าและอุปกรณ์ประกอบ อื่นๆ เช่น screen หรือ lasor pointer
13. อายุการใช้งานของหลอดภาพไม่น้อยกว่า  2,000 ชั่วโมง
14. สุดท้ายต้องมีรับประกันการใช้งาน อย่างน้อยๆต้อง 6-12 เดือน

      ทั้งหมดนี้ควรอยู่ในงบประมาณไม่เกิน 22,000 บาท น่ะครับ ราคาโปรเจคเตอร์จะสูงกว่านี้หากเลือกความสว่างที่มากขึ้น หากใช้ในห้องประชุมขนาดใหญ่ก็ควรระบุความสว่างมากกว่า 3,000 lumen  สุดท้ายนี้หวังว่าบทความนี้คงช่วยนำทางใครหลายคนให้เลือกโปรเจคเตอร์ที่ถูกใจได้น่ะครับ สวัสดีครับ

วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โปรเจคเตอร์สำหรับสำนักงาน (office projector)

     การเลือกเครื่องโปรเจคเตอร์เพื่อใช้ในกิจการธุรกิจเป็นเรื่องที่ไม่ยากสำหรับมือใหม่ทุกท่าน ซึ่งต่างจากการเลือกโปรเจคเตอร์เพื่อความบันเทิงที่มีรายละเอียดมากกว่า และเช่นเคยในท้องตลาดเองมีโปรเจคเตอร์หลากหลายชนิดให้เราได้เลือกซื้อเลือกหา แต่มีหัวข้อสำคัญเพียง 3-4 ข้อเท่านั้นที่จำเป็นสำหรับประกอบการพิจารณาการใช้งานในสำนักงาน ดังนี้
     ข้อที่ 1 คือเรื่องความสว่างที่ต้องการ (projector brightness)
     ข้อที่ 2 ความละเอียดที่ต้องการ (projector resolution)
     ข้อที่ 3 เรื่องของน้ำหนักเครื่อง ในกรณีที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายเครื่องหรือพกพาไปที่ต่างๆ
     ข้อที่ 4 คือเรื่องของราคา

ความสว่างของโปรเจคเตอร์
     หน่วยของความสว่างที่ใช้เป็นสากลคือ ANSI lumens (american national standard institute lumens) ซึ่งเครื่องโปรเจคเตอร์ที่มีค่า lumens สูงมากเท่าใดก็จะมีราคาสูงมากตามไปด้วยเท่านั้น แต่จำไว้ว่าเครื่องที่มีความสว่างมากที่สุดไม่ใช่โปรเจคเตอร์ที่เหมาะสมที่สุดเสมอไป เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่
     1.จำนวนคนที่อยู่ในห้องนำเสนอ เพราะยิ่งจำนวนคนมากเท่าไหร่ก็ต้องทำให้ภาพใหญ่ขึ้น แต่เมื่อภาพใหญ่ขึ้นความสว่างของภาพก็จะลดลง
     2.ห้องที่เปิดเครื่องโปรเจคเตอร์มีแสงสว่างอยู่แล้วเท่าไหร่ ในห้องที่มีแสงน้อยเครื่องโปรเจคเตอร์จะให้ภาพที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ถ้าใช้เครื่องโปรเจคเตอร์ที่มีแสงสว่างมากจนเกินไปในห้องแสงน้อยก็จะทำให้ผู้ชมแสบตาได้ แต่ถ้าฉายภาพในห้องที่มีแสงสว่างมากๆก็จำเป็นต้องเลือกซื้อโปรเจคเตอร์ที่มีความสว่างมากขึ้นเพื่อแข่งกับแสงที่อยู่ในห้อง
     3.ฉากรับภาพที่ใช้ (projector screen) หากเราใช้ผนังห้องเป็นฉากเราต้องเลือกโปรเจคเตอร์ที่มีความสว่างมากขึ้นเพราะผนังส่วนใหญ่มีการสะท้อนแสงกลับได้น้อย แต่หากคุณใช้ฉากเฉพาะก็ใช้ความสว่างที่น้อยลง

ความละเอียดของภาพ
     สำหรับหัวข้อนี้ขอแนะนำให้ดูเครื่องที่จะใช้เชื่อมต่อเข้าโปรเจคเตอร์ เช่น คุณเชื่อมต่อจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ความละเอียดหน้าจอ 800x600 ก็ควรเลือกโปรเจคเตอร์เครื่องที่มีความละเอียดภาพเท่ากันหรือมากกว่า แต่หากคุณใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่หน้าจอละเอียด 1024x768 แต่เลือกโปรเจคเตอร์ 800x600 ก็จะได้ภาพที่ไม่ละเอียดเท่าที่ต้องการ

     นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่เป็นคุณสมบัติที่เป็นจุดเด่นย่อยลงไปในแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ เช่น zoom lens, shift lens เป็นต้น

วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โปรเจคเตอร์ DLP หรือ LCD อันไหนดีกว่ากัน?

     สวัสดีครับ สำหรับสัปดาห์นี้จะมาเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับโปรเจคเตอร์ในหัวข้อ โปรเจคเตอร์ DLP หรือ LCD อันไหนจะดีกว่ากัน?
LCD โปรเจคเตอร์
      ปัจจุบันเราสามารถแบ่งโปรเจคเตอรร์ทั่วไปในท้องตลาดตามเทคโนโลยีที่ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.โปรเจคเตอร์ DLP(digital light processing) 2. โปรเจคเตอร์ LCD(liquid crystal display) ทั้งสองประเภทมีกลไกการสร้างภาพที่แตกต่างกัน แต่ละแบบก็จะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน
     ในอดีตโปรเจคเตอร์แบบLCD จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มของโปรเจคเตอร์ราคาถูกแต่มีประสิทธิภาพต่ำ และโปรเจคเตอร์แบบDLPอยู่ในประเภทที่มีประสิทธิภาพและราคาสูง  แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีของโปรเจคเตอร์ทั้งสองประเภทได้พัฒนาจนเท่าเทียมกัน การเลือกว่าแบบใดดีกว่าแบบใดจึงไม่มีความจำเป็น
     LCD โปรเจคเตอร์ได้พัฒนาอย่างมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน DLP โปรเจคเตอร์ก็ลดราคาลงมามาก และทั้งสองประเภทสามารถให้ภาพที่คมชัด สดใสและมีชีวิตชีวา ดังนั้นการเลือกโปรเจคเตอร์จึงควรไปตัดสินที่ปัจจัยอื่นๆมากกว่า เช่น ความสว่าง ความละเอียด contrast เป็นต้น
การผลิตภาพของ DLP โปรเจคเตอร์

        ข้อดีของโปรเจคเตอร์แบบ DLP คือ มีระยะห่างระหว่าง pixel น้อยกว่า ทำให้ภาพที่ได้มีความนุ่มนวล(smooth) และให้ contrast สูงกว่า เหมาะกับการชมภาพยนตร์ ดูหนัง ข้อเสียของโปรเจคเตอร์แบบ DLP คือ ภาพที่ได้หากมองกวาดตาจากด้านหนึ่งของหน้าจอไปยังอีกด้านหนึ่งจะมองเห็นภาพเป็นแถบๆเหมือนทางม้าลาย นอกจากนี้อาจพบขอบจอเป็นแถบสีเทาเล็กๆอันเกิดจากการกระเจิงแสง

      ข้อดีของโปรเจคเตอร์แบบ LCD คือ ให้ภาพที่มีความสว่างมากกว่า สีสดกว่า ในจำนวนวัตต์(watt)ที่เท่ากัน ทำให้ได้ภาพมีชิวิตชีวา อีกข้อที่สำคัญมากคือให้ภาพนิ่งที่คมชัดกว่ามากเนื่องจากระยะห่างแต่ละ pixel พอสมควรทำให้แต่ละจุดแสดงสีได้ชัดเจนกว่า จึงเหมาะกับการใช้นำเสนอภาพนิ่งในการประชุมหรือห้องเรียน สำหรับข้อเสียของโปรเจคเตอร์แบบ LCD คือ ภาพที่ได้จะเป็นจุดๆของpixel มีความนุ่มนวลที่น้อยกว่า ข้อเสียอีกหนึ่งข้อ คือ ระบบ LCD มีส่วนประกอบหลายชิ้นมากกว่า DLP และส่วนประกอบแต่ละชิ้นมีราคาแพง ซึ่งLCD เกิดโอกาสเสียได้มากกว่า DLP

     จากข้อมูลทั้งหมดหวังว่าคงพอทำให้ท่านสามารถเลือกได้แล้วว่าโปรเจคอตร์แบบใดที่เหมาะและตรงกับความต้องการของคุณมากที่สุดครับ

ราคาโปรเจคเตอร์

     สำหรับราคาของโปรเจคเตอร์ที่ต้องการใช้เล่นภาพยนตร์จาก DVD หรือ ดูจาก blu-ray(พอดูได้) ที่แนะนำคือความละเอียดโปรเจคเตอร์1280x720 ซึ่งราคาอยู่ระหว่าง 21,000-30,000 บาท สำหรับโปรเจคเตอร์ความละเอียด 1920x1080 ที่ราคาอยู่ในช่วงนี้เช่นกันเมื่อเทียบกับรุ่น1280x720 อาจมีภาพละเอียดกว่า แต่ contrast อาจจะด้อยกว่ามากให้สังเกตให้ดี
     สำหรับคนที่ต้องการโปรเจคเตอร์ราคาสูงกว่า 30,000 บาทขึ้นไป คุณจะได้โปรเจคเตอร์ 1920x1080 ที่ได้ทั้งความละเอียดและ contrast ที่สูง
ราคาโปรเจคเตอร์ ไม่มีคำตอบตายตัวต้องเปรียบเทียบเป็นรุ่นๆไป
 ราคาหลอดภาพสำรอง
     หลอดภาพของโปรเจคเตอร์ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานที่จำกัดขึ้นกับโปรเจคเตอร์แต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อไม่มีมาตราฐานตายตัว และก่อนหมดอายุการใช้งานคุณภาพของหลอดอาจลดลงก่อนกำหนด ดังนั้นหากคุณต้องการได้ภาพจากโปรเจคเตอร์ที่คมชัดสีสดตลอดเวลาคุณควรจะมีหลอดภาพสำรองไว้ โดยปกติหลอดภาพโปรเจคเตอร์ราคาตกอยู่ที่ประมาณ 9000 บาท

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การติดตั้งโปรเจคเตอร์ (projector installation)

     ในการติดตั้งเครื่องโปรเจคเตอร์ ขนาดห้องและระยะห่างระหว่างโปรเจคเตอร์และฉากเป็นปัจจัยที่ทำให้ได้ขนาดและคุณภาพของภาพที่เหมาะสม ปัจจุบันโปรเจคเตอร์ส่วนใหญ่จะสามารถปรับได 2 ส่วน คือ
การติดตั้งโปรเจคเตอร์

     1.ระยะซูม(zoom range) โดยมีเลนส์ที่สามารถขยายภาพให้ใหญ่หรือเล็กลงได้ เช่น โปรเจคเตอร์ 1.2x จะสามารถให้ภาพที่ขยายใหญ่กว่าเดิม 20% แต่ระยะซูมที่ไกลขึ้นก็จะทำให้พลังงานแสงที่ได้ลดลง นั้นคือยิ่งขยายภาพจากโปรเจคเตอร์ให้ใหญ่คุณภาพของภาพที่ได้จะต่ำลง เช่น คุณมีห้องที่เล็กแต่ต้องการขยายภาพที่ได้จากโปรเจคเตอร์ให้ใหญ่ภาพที่ได้จะไม่ชัด
     2.lens shift คือความสามารถในการเลื่อนภาพขึ้น-ลง ซ้าย-ขวาได้โดยไม่ขยับโปรเจคเตอร์

ระยะในการแสดงผลของเครื่องโปรเจคเตอร์ (Projector Throw Distance)
     ปัจจัยที่มีผลต่อขนาดของภาพที่ได้จากโปรเจคเตอร์ (projector picture side) คือ ระยะห่างของเครื่องโปรเจคเตอร์กับฉากรับภาพ (projector screen) อีกข้อคือความสามารถในการซูมของเลนส์ (projector lens) ยกตัวอย่างเช่นโปรเจคเตอร์ที่ระบุว่าให้ภาพขนาด 50-500 นิ้ว 1-10 เมตร หมายถึงโปรเจคเตอร์ตัวนั้นจะให้ภาพขนาด 50 นิ้ว ที่ระยะ 1 เมตร และให้ภาพขนาด 500 นิ้วที่ระยะ 10 เมตร ฉะนั้นหากต้องการภาพขนาดใหญ่แต่ห้องที่ติดตั้งโปรเจคเตอร์มีขนาดเล็กก็ต้องอาศัยอีกปัจจัยคือความสามารถในการซูมภาพให้ใหญ่ขึ้นจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ความสามารถในการซูมภาพของโปรเจคเตอร์จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเลือกโปรเจคเตอร์ที่สำคัญ

วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

contrast ของโปรเจคเตอร์ (projector contrast)

     contrast  คือ ความแตกต่างของความสว่าง ระหว่างสว่างมากที่สุดและมืดที่สุด ยิ่งช่วงห่างนี้มากเท่าไหร่จะมี contrast สูงเท่านั้น
แถบด้านบนคือโปรเจคเตอร์ที่มีค่า contrast สูงกว่า นั่นคือมีระดับ(step)ของสีจากขาวไปสู่ดำที่มากกว่า
      แล้วค่า contrast สำคัญอย่างไรต่อโปรเจคเตอร์ ?
     สำหรับโปรเจคเตอร์ (projector) ที่ไม่ได้ใช้ดูหนังค่าความสว่างจะมีความสำคัญมากที่สุดและ contrast สำคัญรองลงมา แต่โปรเจคเตอร์ที่ใช้ชมภาพยนตร์นั้นต่างกันสิ้นเชิงเนื่องจาก ค่า contrast เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการเลือกซื้อโปรเจคเตอร์สำหรับชมภาพยนร์

     เนื่องจาก contrast เป็นค่าที่สามารถเทียบกันได้เลยในโปรเจคเตอร์แต่ละรุ่น โปรเจคเตอร์ที่มี contrast สูงกว่าจะแสดงภาพมีความลึก-ตื้นมากกว่า และแสดงรายละเอียดเช่น ภาพที่มีเงาได้ดีกว่า หรือ แสดงภาพแบบ 3 มิติได้ดีกว่า  อย่างไรก็ดีคุณภาพของภาพที่ได้จากโปรเจคเตอร์ยังขึ้นกับแสงไฟในห้องด้วย ยกตัวอย่างในโรงภาพยนตร์จะมี่ความมืดมากเพื่อลดแสงที่จะไปรบกวนทำให้ภาพที่มีความดำมืดกลายเป็นสีเทาๆแทนเป็นต้น
  

ความสว่างของโปรเจคเตอร์ (projector brightness)

     ความสว่างของโปรเจคเตอร์ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย
1.ความสว่างของหลอดภาพโปรเจคเตอร์
2.ความสามารถในการสะท้อนแสงกลับของฉาก
3.ปริมาณแสงสว่างในห้องที่ติดตั้งโปรเจคเตอร์

     โดยปกติมี 2 วิธีในการวัดแสงจากโปรเจคเตอร์ คือ 1.วัดค่า lumen เป็นการวัดพลังงานแสงที่ผลิตจากเครื่องโปรเจคเตอร์โดยตรง 2.วัดค่า foot-Lambart(fL) เป็นการวัดแสงทางอ้อมโดยวัดจากแสงที่สะท้อนฉากกลับมาสู่ผู้ชมซึ่งวัดได้ยากกว่า ในการชมภาพยนตร์จากโปรเจคเตอร์ภายในห้องปิด การวัดแสงแบบที่สองจะเป็นวิธีที่ดีกว่า แต่เนื่องจากค่า fL นี้ขึ้นกับฉากที่แสดงภาพด้วย ดังนั้นผู้ผลิตโปรเจคเตอร์ทุกยี่ห้อจึงไม่สามารถกำหนดค่านี้มากับเครื่องได้

     ดังนั้นโดยทั่วไปจึงนิยมใช้หน่วยความสว่างของโปรเจคเตอร์เป็น lumen หรือเรียกเต็มๆว่า ANSI lumen โปรเจคเตอร์ที่มีค่า ANSI lumen สูงกว่าจะมีความสว่างที่มากกว่า แต่ค่าความสว่างที่มากขึ้นก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาของโปรเจคเตอร์สูงตามไปด้วย
ความสว่างของโปรเจคเตอร์ (projector brightness)

     แล้วความสว่างเท่าไหร่ที่เหมาะสม?
     ให้จำไว้เสมอว่าการชมภาพยนตร์โดยเครื่องโปรเจคเตอร์ ไม่จำเป็นต้องใช้โปรเจคเตอร์ที่มีความสว่างมากที่สุดในการชมภาพยนตร์ที่บ้าน แต่เป็นเครื่องที่สามารถให้ภาพที่เมื่อสะท้อนฉากแล้วให้สีที่สวยงาม และไม่สว่างจนปวดตา

     แต่หากคุณใช้โปรเจคเตอร์เพื่อใช้ในห้องประชุมขนาดใหญ่ที่มีผู้ชมมากๆ หรือฉายภาพในห้องที่มีขนาดใหญ่ หรือ มีแสงสว่างในห้องมาก ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องความสว่างเป็นปัจจัยหลักโดย

    ค่าความสว่างที่แนะนำคราวๆ คือ ห้องขนาดเล็กและมีแสงสว่างน้อยใช้ความสว่างประมาณ 1500-2000 ANSI lumen ห้องขนาดกลางที่มีแสงสว่างปานกลางใช้ความสว่าง 2000-3000 ANSI lumen และหากเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่เช่นงานแต่งงานควรใช้โปรเจคเตอร์ที่มีความสว่างประมาณ 3000-5000 AMSI lumen

     สุดท้ายที่อยากจะฝากไว้ คือ ไม่ว่าคุณจะเลือกความสว่างของโปรเจคเตอร์เท่าไหร่ก็ตาม แต่ต้องจำไว้ว่าหลอดภาพนั้นมีอายุการใช้งานและเมื่อใช้งานไปนานๆความสว่างที่ได้ก็จะลดลงไปด้วย ดังนั้นคุณควรจะมีหลอดภาพสำรองไว้เสมอหากต้องการให้ภาพสวย สดใสอยู่ตลอดเวลา

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

ความละเอียดของภาพจากโปรเจคเตอร์ (projector resolution)

     ความละเอียดของภาพที่ฉายจากโปรเจคเตอร์(projector) มีหน่วยเป็น pixel ยิ่งจำนวน pixel มาก ภาพจะยิ่งมีความละเอียดสูง ความละเอียดของภาพโปรเจคเตอร์มักจะอยู่ในรูปของเลข 2 ชุด เล่น "1280x720" ตัวแรกแสดงจำนวน pixel ในแนวนอนแต่ละแถว ตัวหลังแสดงจำนวน pixel ของแต่ละแถวในแนวตั้ง  เวลาโฆษณาขายโปรเจคเตอร์มักพบตัวเลข "720p" หรือ "1080p" นั้นหมายถึงตัวเลขชุดหลัง คือ ความละเอียดของโปรเจคเตอร์ในแนวตั้งนั่นเอง ตัว p หมายถึง progressive scan หรือ การแสดงภาพทั้งหมดในเวลาเดียว

     โปรเจตเตอร์รุ่นที่มีความละเอียดสูงจะมีราคาสูงขึ้น แต่มีข้อดีคือ ภาพละเอียดคมชัด และลดความแตกต่างของแต่ละ pixelได้มากซึ่งเป็นสิ่งที่คุณต้องการในการชมภาพยนตร์ด้วยโปรเจคเตอร์ คือ จอภาพใหญ่และคมชัด

ภาพจากโปรเจคเตอร์ความละเอียดสูง จำนวน pixel จะมากกว่า
ภาพจากโปรเจคเตอร์ความละเอียดต่ำ (low resolution projector)
ความละเอียดของโปรเจคเตอร์สำหรับชมภาพยนตร์ในท้องตลาด

     1280x720 โปรเจคเตอร์รุ่นนี้เป็นที่นิยมในอดีต เป็นรุ่นที่เหมาะมาในการชมภาพยนตร์จาก DVD ได้ดี และจาก 1080i HDTV ได้ดีพอสมควรราคาตกอยู่ประมาณ 20,000 กว่าบาท ฉะนั้นหากคุณต้องการโปรเจคเตอร์ราคาไม่แพง และไม่ต้องการความละเอียดที่สูง โปรเจคเตอร์รุ่นนี้ก็เหมาะกับคุณมากๆ

     1280x768 โปรเจคเตอร์รุ่นนี้สามารถแสดงภาพแบบ 16:9 คือเหมาะต่อการเล่น widescreen Dvd, blu-ray อย่างไรก็ดีจะพบแถบดำเล็กๆที่ขอบจอเนื่องจากอัตราส่วนของเครื่องเป็น 15:9 ที่สำคัญความละเอียดแบบนี้เป็นค่ามาตราฐานของจอคอมพิวเตอร์ดังนั้นใครที่ต้องการเล่นอินเตอร์เน็ต หรือ ทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ด้วยก็ควรใช้โปรเจคเตอร์รุ่นนี้

     1920x1080 โปรเจคเตอร์รุ่นนี้ คือ รุ่นที่ลงท้ายด้วย 1080i หรือ 1080p ซึ่งเป็นรุ่นที่มีความละเอียดภาพสูงที่สุด สามารถแสดงภาพจาก 1080i HDTV และ 1080i & 1080p blu-ray ได้อย่างคมชัด ราคาของโปรเจคเตอร์ รุ่นนี้อย่างต่ำสุดอยู่ที่ 30,000 บาท แต่เป็นโปรเจคเตอร์ที่ชมภาพยนตร์ได้ดีที่สุด หากคุณต้องการภาพที่คมชัดรองรับเครื่องเล่นราคาแพงคุณควรเลือกซื้อโปรเจคเตอร์รุ่นนี้
projector resolution table
      สรุปน่ะครับ โปรเจคเตอร์ 1280x720 และ 1920x1080 เหมาะสำหรับชมภาพยนตร์ ขึ้นอยู่กับต้องการความคมชัดมากแค่ไหน  โปรเจคเตอร์ 1280x768 เหมาะกับผู้ที่ใช้ดูหนังด้วย และทำงานเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ หวังว่าคุณจะได้ความรู้ในการเลือกโปรเจคเตอร์เพิ่มเติมน่ะครับ

วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

การเลือกอัตราส่วนภาพ (projector aspect ratio) ของโปรเจคเตอร์

     อัตราส่วนของภาพ คือ อัตราส่วนความกว้างของภาพต่อความสูงของภาพ โทรทัศน์ทั่วไปจะมีอัตราส่วน 4:3 หรือ 1.33:1 โรงภาพยนตร์เป็น 2.35:1 จอ widescreen, HDTV และ bluray เป็น 1.78:1(16:9) การเลือกโปรเจคเตอร์ขึ้นกับว่าคุณต้องการโปรเจคเตอร์มาเล่นกับเครื่องชนิดไหน
อัตราส่วนภาพของโปรเจคเตอร์

      คงพอรู้จักกับอัตราส่วนของภาพมาพอสมควร คราวนี้มาดูปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นกันครับ โดยปกติเครื่องโปรเจคเตอร์ หรือ โทรทัศน์ มักมีอัตราส่วนภาพอยู่ที่ 4:3 หรือ 16:9 แต่หนังหรือภาพยนตร์ส่วนใหญ่มักมีอัตราส่วนภาพที่หลากหลายแตกต่างกันไป ฉะนั้นสิ่งที่คุณต้องเข้าใจไว้ คือ ไม่ว่าคุณจะซื้อโปรเจคเตอร์ที่มีอัตราส่วนภาพเท่าไหร่ก็ตามจะไม่พอดีกับอัตราส่วนภาพของหนังหรือภาพยนตร์ทุกเรื่องที่คุณชม
เปรียบเทียบภาพโปรเจคเตอร์ 4:3 , 16:9 และ ภาพจากโรงภาพยนตร์

     จากรูปจะเห็นว่าถ้าซื้อโปรเจคเตอร์ไม่ตรงกับอัตราส่วนของภาพยนตร์ที่เล่นจะได้ภาพไม่สมบูรณ์

     ดังนั้นทางแก้ไขที่เป็นที่นิยมมากสำหรับคอภาพยนตร์คือการเลือกซื้อ โปรเจคเตอร์ที่อัตราส่วนภาพ 16:9 เนื่องจากภาพยนตร์หรือหนังใหม่ๆมักจะทำภาพอัตราส่วนสำหรับ HDTV, widescreen DVD, blu-ray เป็นอัตราส่วน 16:9   แต่สำหรับคนที่ชอบชมภาพยนตร์เก่าๆที่เป็น DVD ลงไปหรือถ้าคุณชอบชมซีรีส์ที่ฉายทางโทรทัศน์ ควรใช้โปรเจคเตอร์อัตราส่วนภาพ 4:3 ครับ นอกจากนี้ blu-ray รุ่นใหม่ๆจะเป็นอัตราส่วน 2.4:1 ซึ่งน่าจะเป็นอัตราส่วนที่ใช้มากสำหรับโปรเจคเตอร์ในอนาคต สุดท้ายขอฝากไว้ว่าการเลือกโปรเจคเตอร์ที่เหมาะสมยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากมายแต่อย่าลืมถึงราคาและความพอใจของคุณเป็นสำคัญ หวังว่าคงเลือกตรงใจน่ะครับ สวัสดีครับ

วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

การเลือกโปรเจคเตอร์เพื่อดูหนัง ดูภาพยนตร์ ภายในบ้าน

     โปรเจคเตอร์ (projector) ในท้องตลาดมีหลากหลายรุ่น หลายราคาให้เราได้เลือกซื้อ ซึ่งแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อก็จะมีข้อดีและข้อเสียต่างกันไป แล้วเราจะเลือกโปรเจคเตอร์ดูหนังที่เหมาะกับเราได้อย่าง?
จะเลือกโปรเจคเตอร์อะไรดีน้า?
      ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าโปรเจคเตอร์ คือ เครื่องฉายสัญญานภาพวีดิโอลงบนฉาก โดยเกิดจากการสร้างแสงสีและผ่านเลนส์ต่างๆมาเป็นภาพบนฉาก ซึ่งเป็นที่นิยมใช้อย่างกว้างขวางทั้งในการนำเสนอทางธุรกิจ การประชุม ห้องเรียน อบรมสัมมนา หรือใช้เพื่อความบันเทิง เช่น การชมภาพยนตร์
  
     ในส่วนของราคาของโปรเจคเตอร์จะขึ้นกับความละเอียด และ ความสว่างของภาพ ความละเอียดของภาพที่ได้จากโปรเจคเตอร์โดยทั่วไปมี 3 แบบ คือ SVGA (800x600), XGA (1024x768), และ 720p (1280x720) ความละเอียดจะเหมือนหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่อาจจะไม่เท่ากับความละเอียดของภาพยนตร์ยุคใหม่ๆ  สำหรับเรื่องของความสว่างหากฉายภาพในห้องที่แสงสว่างตามธรรมชาติน้อย โปรเจคเตอร์ความสว่าง 1000-1500 lumen ก็เพียงพอต่อความต้องการ หากแสงสว่างตามธรรมชาติมากขึ้นก็อาจใช้ความสว่าง 1500-3000 lumen แต่หากใช้ในการฉายภาพในห้องที่ขนาดใหญ่และฉายไปบนฉากขนาดใหญ่คงต้องเลือกโปรเจคเตอร์ที่มีความสว่าง 3000 lumen ขึ้นไป

     สำหรับการแบ่งโปรเจคเตอร์เป็นประเภทต่างๆ แบ่งได้ตามเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตภาพดังนี้ 1.หลอดภาพโปรเจคเตอร์ CRT เป็นหลอดแคโทดสามสี แดง น้ำเงิน เขียว ดูแลน้อย อายุใช้งานนาน แต่ราคาแพงมาก เหมาะกับการติดตั้งจุดที่ไม่ต้องเคลื่อนย้ายเลย 2.LCD โปรเจคเตอร์ ราคาถูก ข้อเสียอย่างเดียวของ LCD คือ เห็นภาพเป็นจุดๆชัดเจน 3.DLP โปรเจคเตอร์ ให้ภาพเนียนแต่สีไม่สดเท่า LCD และจะเห็นภาพเป็นแถบๆถ้ามองแบบกวาดตา แต่ปัญหานี้จะไม่พบหากเป็นรุ่นที่ใช้ 3DMD ราคาสูงกว่า LCD เล็กน้อย    

     ที่กล่าวมาเป็นเพียงรายละเอียดคราวๆ ต่อไปคุณต้องระบุสเปคโปรเจคเตอร์ที่คุณต้องการ โดยลองตอบคำถามหลักๆ ต่อไปนี้ครับ
     1. อัตราส่วนภาพ(aspect ratio) ที่คุณต้องการเป็นเท่าไหร่?
     2. คุณต้องการความละเอียด(resolution) ของภาพมากแค่ไหน?
     3. คุณต้องการความสว่าง(brightness) ของภาพมากแค่ไหน?
     4. คุณต้องการ contrast ภาพมากน้อยแค่ไหน?
     5. มีงบประมาณเท่าไหร่ในการซื้อโปรเจคเตอร์?
     6. มีข้อจำกัดของขนาดห้องที่ติดตั้งเครื่องโปรเจคเตอร์หรือไม่?

     คุณสามารถค้นหาคำตอบทั้งหมดได้ใน www.projector-compare.blogspot.com
     หลังจากนั้นคุณจะเป็นผู้ที่สามารถเลือกโปรเจคเตอร์ที่ถูกใจและเหมาะสมได้อย่างแน่นอน